นกงั่ว (Darter)

        นกงั่ว (Darter)

           นกอ้ายงั่ว หรือ นกงั่ว หรือ นกคองู หรือ นกงู(อังกฤษ: Darter, Snakebird) เป็นวงศ์ของนกน้ำวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Anhingidae

      มีลักษณะโดยรวม คือ เป็นนกขนาดใหญ่ขนาดใหญ่มาก ความยาวจากปลายปากจดหางประมาณ 70-95 เซนติเมตร หัวเรียวมาก, ปาก ยาวเป็นสองเท่าของหัว จะงอยปากตรงเรียวและแหลม ขอบขากรรไกรหยักเล็กน้อย ด้านข้างเป็นร่องรูจมูกเล็กและรียาว ไม่เปิดออกข้างนอก ถุงใต้คางมีขนาดเล็ก มีส่วนคอเรียวมาก ปลายปีกแหลม ขนปลายปีกเส้นที่ 2 และ 3 นับจากด้านนอกยาวที่สุด หางยาว ปลายหางมน มีขนหาง 12 เส้น หน้าแข้งสั้นแต่ใหญ่ มีพังผืดนิ้วเป็นแบบตีนพัดเต็ม กินปลาเป็นอาหารหลัก หาอาหารโดยดำน้ำและว่ายน้ำ ทำรังเป็นกลุ่มตามต้นไม้ รังมีไข่ 3-5 ฟอง เปลือกไข่สีฟ้า มีผงคล้ายผงชอล์กปกคลุมบางส่วน ลูกอ่อนแรกเกิด มีสภาพเป็นลูกอ่อนเดินไม่ได้ ผิวหนังเป็นสีเนื้อ

       นกอ้ายงั่ว มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับนกกาน้ำ (Phalacrocoracidae) ซึ่งอยู่ต่างวงศ์กัน ซึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์เคยมีบรรพบุรุษร่วมกันมา นักบรรพชีวินวิทยาเคยขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของบรรพบุรุษของนกทั้งสองวงศ์ในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งมีอายุย้อนหลังไปถึงเมื่อราว 60,000,000 ปีที่ผ่านมา สันนิษฐานว่านกอ้ายงั่วมีวิวัฒนาการจนแตกต่างจากนกกาน้ำเมื่อราว 30,000,000 ปีที่ผ่านมา

     จุดที่นกอ้ายงั่วแตกจากนกกาน้ำ คือ มีรูปร่างที่ใหญ่กว่้ามาก อีกทั้งขนเมื่อลงน้ำจะไม่อุ้มน้ำเหมือนนกกาน้ำ ที่สำคัญ คือ ลำคอที่เรียวยาว เมื่อนกลงไปว่ายน้ำ ลำตัวจะจมลงในน้ำแต่ส่วนคอจะชูขึ้นเหนือน้ำ เหมือนงูเลื้อยในน้ำ อันเป็นที่มาของชื่อ “นกงู” หรือ “นกคองู” ด้วยกระดูกคอชิ้นที่ 8 และชิ้นที่ 9 จะมีการปรับให้หดคอเป็นรูปตัว S ได้ มีกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรง ช่วยให้การพุ่งปากเข้าหาเหยื่อเหมือนลูกดอก นอกจากจะว่ายน้ำและดำน้ำเก่งแล้ว นกอ้ายงั่วยังมีความสามารถในการบินสูงด้วย โดยท่าบินของนกอ้ายงั่ว จะกระพือปีกถี่คล้าย ๆ นกกาน้ำ แต่จะสลับด้วยการถลาร่อนมากกว่า สามารถใช้ประโยชน์จากกระแสความร้อนบนผืนดิน เพื่อใช้ในการยกตัวขึ้นสู่ระดับสูงลิบ คล้ายกับนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยว หรืออินทรีได้ด้วย จึงบินอพยพหากินได้เป็นระยะทางไกลมาก

     นกอ้ายงั่ว จำแนกได้เพียงแค่สกุลเดียว มีทั้งหมด 4 ชนิดทั่วโลก (ดูในเนื้อหา) แต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกันไปเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่อาศัยคล้ายคลึงกัน โดยพบได้ในทุกภูมิภาคทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ได้แก่ ทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, แอฟริกา และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

       ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ได้มีการค้นพบนกอ้ายงั่วเผือกตัวแรกของโลก ที่มีทั้งตัวเป็นสีขาวล้วน บริเวณวัดห้วยจันทร์ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี หลังจากนั้นอีกไม่นาน ไม่มีใครพบนกอ้ายงั่วเผือกตัวนี้ซึ่งเชื่อว่ามีเพียงตัวเดียวในโลกอีกเลย

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7

นกกระเต็น (Kingfisher, River kingfisher)

   นกกระเต็น (Kingfisher, River kingfisher)

                 

          นกกระเต็น หรือ นกกะเต็น(อังกฤษ: Kingfisher, River kingfisher) เป็นนกที่อยู่ในวงศ์ Alcedinidae ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) จัดเป็นนกขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 13-16 เซนติเมตร (ในชนิดที่ใหญ่อาจยาวได้ถึง 41 เซนติเมตร) ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน มีลักษณะทั่วไปคือ มีส่วนหัวโต คอสั้น จะงอยปากแหลมยาวตรงและแข็งแรง ส่วนใหญ่มีสีสวยสดสะดุดตา เมื่อเวลาบินจะบินได้อย่างคล่องแคล่ว มักพบในแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ

         เป็นนกที่หากินด้วยวิธีการพุ่งลงไปในน้ำด้วยความเร็วและแรง (มีการศึกษาพบว่าเร็วถึง 1/50 วินาที) และใช้จะงอยปากที่แข็งแรงแหลมคมจับปลาหรือสัตว์น้ำต่าง ๆ กินเป็นอาหาร ด้วยการจ้องมองจากบนกิ่งไม้ริมน้ำ ซึ่งสามารถอยู่นิ่ง ๆ แบบนั้นได้เป็นระยะเวลานาน โดยมักจะจับปลาในช่วงเช้าจนถึงสาย ๆ และอีกครั้งในช่วงบ่าย เมื่อเกาะอยู่บนกิ่งไม้เหนือแหล่งน้ำ จะพยายามหันหลังให้ดวงอาทิตย์ เพื่อให้ปลาเมื่อมองขึ้นมาจะต้องมองย้อนแสง ทำให้สังเกตไม่เห็นตัวนก[6] ในบางชนิดอาจจะบินอยู่กับที่กลางอากาศ ก่อนที่จะพุ่งลงไปจับปลา เมื่อจับปลาได้แล้ว จะจับปลาฟาดกับกิ่งไม้เพื่อให้ปลาตาย ก่อนที่จะกลืนลงไปโดยเอาส่วนหัวลงไปก่อนเสมอ เพื่อที่จะไม่กินปลาย้อนเกล็ด ซึ่งอาจโดนเงี่ยงหรือเกล็ดทิ่มแทงทำให้นกได้รับบาดเจ็บได้

             โดยปกติเป็นนกที่อยู่ลำพังเพียงตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ การทำรังวางไข่ นกกระเต็นมักใช้จะงอยปากขุดรูริมฝั่งน้ำ และหาหญ้ามารองเป็นพื้น วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง บางชนิดอาจขุดรูไว้มากถึง 2-3 รู เพื่อหลอกสัตว์ผู้ล่า ขณะที่บางชนิดอาจจะใช้โพรงไม้หรือโพรงไม้เก่าของนกอื่นที่ทิ้งร้างไว้เป็นที่วางไข่ โดยมากจะวางไข่ในช่วงฤดูหนาว

              สามารถจำแนกออกเป็นวงศ์ย่อย ๆ ได้อีก 3 วงศ์ (ดูในตาราง) แบ่งออกได้เป็นชนิดทั้งหมด 85 ชนิด (บางข้อมูลจัดให้มี 93 ชนิด) พบกระจายพันธุ์อยู่แทบทุกภูมิภาคทั่วโลก พบในประเทศไทยราว 16 ชนิด

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%99

นกแต้วแร้วท้องดำ (Gurney’s Pitta)

    นกแต้วแร้วท้องดำ (Gurney‘s Pitta)

          นกแต้วแร้วท้องดำ หรือ นกแต้วแล้วท้องดำ (อังกฤษ: Gurney’s Pitta, ชื่อวิทยาศาสตร์: Pitta gurneyi) เป็นนกที่พบในพม่าและไทย ปัจจุบันพบได้ที่ เขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ประเทศไทยแห่งเดียวในโลกเท่านั้น

          นกแต้วแร้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418 ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า มีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศพม่าปี พ.ศ. 2457 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี ทำให้ CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ถูกค้นพบในประเทศไทยโดย Philip D. Rould และ อุทัย ตรีสุคนธ์  โดยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ประมาณ 13-20 คู่เท่านั้น จึงถูกให้เป็นสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่ง IUCN เคยประเมินสถานภาพให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) แต่จากการที่การสำรวจพบประชากรของนกชนิดนี้ในประเทศพม่ามากขึ้น ในปี พ.ศ. 2551 จึงปรับสถานภาพให้ดีขึ้นเล็กน้อยเป็นใกล้สูญพันธุ์ (EN)

         นกแต้วแร้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกแต้วแร้ว (Pitta sp.) 12 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องมีแต้มสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น อาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ หากินด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนดินขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน

          นกตัวผู้จะร้องหาคู่ด้วยเสียง 2 พยางค์ เร็ว ๆ ว่า “ท-รับ” แต่ถ้าตกใจจะร้องเสียงว่า “แต้ว แต้ว” เว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง ส่วนเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดังว่า “ฮุ ฮุ” มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B3

นกยูง (Green Peafowl)

              นกยูง (Green Peafowl)

                  ชื่อสามัญ : Green Peafowl

              ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pavo muticus

         ลักษณะทั่วไปของนกยูง

      นก ยูง จัดว่าเป็นนกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งขนาดโตเต็มที่สูงประมาณ 0.8-1เมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่จะหนักประมาณ 4-6 กิโลกรัม มีอายุยืนได้ถึง 40-50 ปี ตัวผู้มีขนาดโตกว่าตัวเมียตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยขนคอจะมีสีน้ำเงิน (นกยูงอินเดีย) หรือลักษณะคล้ายเกล็ดมีสีเขียว (นกยูงไทย) ขนตามลำตัวจะมีสีเขียวเข้มอมน้ำเงินและดำ ขนหลังเป็นเกล็ดคล้ายใบไม้ ซ้อนทับกันตลอดแผ่นหลังหัวจะมีหงอนลักษณะคล้ายพู่กันปลายแหลม หรือเป็นรูปพัดแล้วแต่ชนิดพันธุ์ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ส่วนขนปีกจะมีสีเขียวเข้มอมน้ำเงินดำและขนหางจะมีสีเขียวเข้ม และมีดอกคล้ายรูปดวงตาตรงส่วนปลาย สำหรับตัวเมียจะมีขนตามตัวสีน้ำตาล ขนคอและหลังจะมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ (นกยูงอินเดีย)  แต่นกยูงไทยลักษณะจะไม่แตกต่างกัน ส่วนหางจะสั้นและไม่มีดอก ดวงตากลมสีฟ้าน้ำตาลดำ หัวเล็กปีกมีสีน้ำเงินดำ และยาวตลอดลำตัว ทำให้นกยูงสามารถบินได้ ลักษณะเท้าของนกยูงจะพบว่ามีนิ้วเท้าข้างละ 4 นิ้ว ใต้นิ้วเป็นเนื้ออ่อนๆ ปลายนิ้วแหลมมีอุ้งเท้าที่สามารถเกาะกิ่งไม้ได้เป็นอย่างดี  ปกตินกยูง ในธรรมชาติ จะเป็นสัตว์ตกใจง่าย และขี้อาย แต่เมื่อนำมาเลี้ยงสามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ ถึงแม้ว่าจะมีมันสมองเล็กแต่ก็มีความสามารถในการจดจำบางสิ่งบางอย่างได้เป็น อย่างดี มีความสามารถในการจำผู้เลี้ยงดู จำสถานที่พักอาศัยที่ปลอดภัยได้ และถ้าตกใจหรือถูกทำร้ายจากสัตว์ชนิดใด นกยูงจะจดจำเมื่อจวนตัว หรือโกรธ จะต่อสู้ป้องกันตัวด้วยการเตะไปข้างหน้า พร้อมทั้งจิก ในต่างประเทศ มีการฝึกนกยูงร่วมแสดงคณะละครสัตว์ นั่นแสดงให้เห็นว่านกยูงสามารถฝึกให้เชื่อง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดมนุษย์ได้อย่างไม่ใช่เรื่องยาก

               ถิ่นกำเนิด

        นกยูงมีแหล่งกำเนิดในป่าเขตร้อนในแถบเอเชียตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาลายู อินโดนีเซีย และในตอนกลางของแอฟริกา ประเทศคองโกถ้าแบ่งแยกตามลักษณะภายนอก สามารถแบ่งได้เป็น 5 ชนิด (species) ได้แก่นกยูงอินเดีย (Blue India) ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกยูงชนิดนี้คือ Pavo cristatusมีถิ่นที่อยู่แถบเอเชียใต้ ทั้งอินเดีย และศรีลังกา สัณฐานวิทยาของนกยูงอินเดียมีหงอนเป็นรูปพัด สีของหัว ลำคอ จนถึงอกจะมีสีน้ำเงิน ท้องมีสีน้ำตาลตัวค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับนกยูงชนิดอื่นๆ ตัวเมียมีหงอนลักษณะเดียวกันแต่จะตัวเล็กและมีสีน้ำตาลเกือบทั้งตัว มีขนสีเขียวอมน้ำเงินแซมที่คอและหัว ลักษณะเด่นของแม่นกยูงอินเดียคือมีไข่ดกไข่มีลักษณะคล้ายไข่ไก่มีผิวเกลี้ยง แต่มีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ส่วน ที่บ้านเราหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า นกยูงไทยนั้นต่างชาติจะเรียกว่า Indo-Chaina, Java Green (Pavo muticus) สัณฐานวิทยาแตกต่างจากนกยูงอินเดีย คือมีตัวโตกว่าหงอนมีลักษณะแหลมคลายพู่กันปลายตัด (Java Green) หัวสีเขียวเข้มคอมีสีเขียวแก่เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน อกและท้องมีสีดำและน้ำตาลเข้มตัวเมียมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวผู้คือมีสีที่ ใกล้เคียงกันทำให้แยกเพศได้ยากถ้ายังไม่โตเต็มที่ (2-3 ปี) ส่วน Indo-Chaina เป็นนกยูงชนิดที่มีความสวยงามและมีตัวโตที่สุด หงอนมีลักษณะแหลมคลายพู่กันปลายแหลมหัวสีเขียวเข้มคอมีสีเขียวอมเหลืองมีขอบ ชัดเจนคล้ายเกล็ดปลา ปีกมีสีน้ำเงิน อกและท้องมีสีดำตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ นกยูงในไทยมี 2 ชนิดย่อย คือ นกยูงชวาหรือนกยูงใต้ (Pavo muticus muticus)กระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระลงไปจนถึงอินโดนีเซีย และนกยูงอินโดจีนหรือนกยูงเหนือ (Pavo muticus imperator)ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในอินเดีย พม่า ยูนนาน ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ตั้งแต่บริเวณคอคอดกระขึ้นไป

               ความแตกต่างเพศผู้และเพศเมีย

    นกยูงเพศ ผู้ลำตัวสีเขียวสด บริเวณปีกสีน้ำเงิน ปลายปีกสีน้ำตาลเข้ม หัวมีหงอนขนงอกชี้ขึ้นเป็นกระจุก ใบหน้าสีน้ำเงิน หนังบริเวณหูและแก้มสีเหลือง ในฤดูผสมพันธุ์ขนคลุมโคนหางด้านบนจะงอกยาว และจะแพนออกเป็นวงกลมตั้งขึ้นเวลาเกี้ยวพาราสีตัวเมีย เมื่อพ้นช่วงฤดูผสมพันธุ์แล้วนกยูงเพศผู้จะสลัดขนคลุมโคนหาง ทำให้ดูคล้ายเพศเมีย เพศเมียตัวเล็กกว่าเพศผู้เล็กน้อยและสีไม่สดใสเท่า บริเวณขนต่างๆ ของเพศเมียมักมีสีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลแดงแทรกเป็นคลื่น จึงมองเห็นเป็นลายคลื่นทั่วทั้งลำตัว ขนคลุมโคนขนหางด้านบนไม่งอกยาว

             การผสมพันธุ์

        นกยูงนก ยูงตัวเมียอายุ 2 ปีเจริญเต็มวัยพร้อมจะผสมพันธุ์ได้ ส่วนตัวผู้ต้องมีอายุอย่างน้อย 3 ปี ฤดูผสมพันธุ์เริ่มประมาณเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัว หากมีนกยูงตัวเมียผ่านเข้าไปในเขตแดนของตัวผู้ ตัวผู้จะเดินเข้าไปหาและรำแพนหางเพื่อโอ้อวด บางครั้งก็สั่นขนหางให้เกิดเสียงดังเป็นช่วงๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย ถ้าตัวเมียพอใจก็จะเดินเข้าไปหาและย่อตัวลงให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์หลัง ผสมพันธุ์ นกยูงตัวเมียจะทำรังวางไข่บนพื้นดินตามที่โล่ง ซุ้มกอพืช หรือซุ้มไม้ โดยอาจมีหญ้าหรือใบไม้แห้งมารองรับ แม่นกยูงออกไข่แต่ละรุ่นประมาณ 4-8 ฟอง ออกทุก 2-3 วัน ไข่สีเนื้อถึงน้ำตาลอ่อน บางฟองมีลายแต้มสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมแดง มีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่พอสมควร เฉลี่ย 54.2 x 72.6 มิลลิเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 114.5 กรัม เริ่มฟักหลังจากวางไข่ฟองสุดท้าย แล้วใช้เวลาฟักประมาณ 27-30 วัน

CD:http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=86:2009-11-04-08-08-20&catid=29:7-&Itemid=42

นกเงือก (Hornbill)

         นกเงือก (Hornbill

          

          นกเงือก (อังกฤษ: Hornbill) เป็นนกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) (บางข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าจะจัดให้อยู่ในอันดับ Bucerotiformes ซึ่งเป็นอันดับเฉพาะของนกเงือกเอง แต่ปัจจุบันนับเป็นชื่อพ้อง โดยนับรวมนกเงือกดินเข้าไปด้วย) เป็นนกที่เชื่อว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว

          นกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้า ๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกดไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้อื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา และจากจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ พบทั่วโลกมี 55 ชนิด ใน 14 สกุล  มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปแอฟริกา และเอเชีย

          นกเงือก เป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ภายในเพื่อออกไข่และเลี้ยงลูก

        นกเงือก เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ประการหนึ่ง เนื่องจากจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้างและยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่าง ๆ

   นกเงือกในประเทศไทย

         ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ใน จังหวัดนครราชสีมา มี    4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และ นกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงืกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81

นกคอนัวร์ (Conure)

   นกคอนัวร์ (Conure)

                       นกคอนัวร์

          นกคอนัวร์ (Conure) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของ นกแก้ว ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบละตินอเมริกา จากเม็กซิโกลงมาถึงหมู่เกาะคาริบเบียนและชิลีใต้ นกคอนัวร์ พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดคือ พาทาโกเนี่ยน มีความยาวประมาณ 17.5 นิ้ว และ นกคอนัวร์ พันธุ์ที่เล็กที่สุดคือ เพ้นท์เท็ต มีความยาวประมาณ 8.5 นิ้ว โดย นกคอนัวร์ เป็นนกที่รักความสงบและอยู่กันเป็นฝูงใหญ่  ทั้งนี้ คำว่า conure (คอนัวร์) มาจากคำว่า Conurus (คอนูรัส) นกคอนัวร์ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aratinga (อาราทิงก้า) นกคอนัวร์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Aratinga และ Pyrrhura

           -Aratinga จะมีสีสันสดใส เช่น สีเขียว สีแดง ที่ดูมีชีวิตชีวา ได้แก่ สายพันธุ์ ซันคอนัวร์(Sun conure) บลูคราวน์(Blue-crowned conure) เจนเดย์(Jenday conure)

           -Pyrrhura จะมีสีสันที่เข้มขึ้น เช่น สีเขียวแก่ น้ำตาลเข้ม และ Aratinga จะไม่มีสีอ่อน ๆ ที่ขึ้นอยู่ตามอกหรือคอ และแก้มอย่าง Pyrrhura ได้แก่ สายพันธุ์ แบล็คแค็พ (Black-capped conure) เพ้นท์เท็ด (Painted conure)

                อุปนิสัยของ นกคอนัวร์ ที่พบบ่อย

         นิสัยเรียกร้องความสนใจ เมื่อ นกคอนัวร์ รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแล้วในตอนเช้าเมื่อคุณตื่นแล้วคุณอาจได้ยินเสียงพองขน เล่นของเล่น หรือเสียงบ่นเบาๆ มาจากกรงของเจ้าคอนัวร์

          การอาบน้ำ นกคอนัวร์ รักการอาบน้ำเป็นชีวิตจิตใจ เราควรอาบให้นกตอนเช้าด้วยน้ำอุ่น เพื่อให้ขนแห้งได้ทันเวลาที่นกจะเข้านอน

           การขบฟัน นกคอนัวร์ จะขบฟันช่วงที่มันใกล้จะหลับ การขบฟันในนกถือเป็นเรื่องธรรมชาติของนก

           การเช็ดปาก หลังมื้ออาหารทุกมื้อ นกคอนัวร์ จะเช็ดปากของมันกับคอนที่มันเกาะ หรือแขนเสื้อของคุณขณะที่มันเกาะอยู่

            กายกรรมแบบนก ๆ กิริยาที่ นกคอนัวร์ ทำคล้ายกับการบิดขี้เกียจ ยืดแข้งยืดขา ซึ่งถือเป็นปกติธรรมดาของนก

            การกัด เป็นการแสดงสัญชาตญาณการอยู่ร่วมกันของ นกคอนัวร์ ที่อาศัยอยู่ในป่า การกัดของมันตามลำพังแสดงว่ามันกำลังทดสอบสิ่งรอบ ๆ ตัวของมันอยู่

            การนอนกลางวัน การนอนกลางวันเป็นการงีบหลับ นกคอนัวร์ จะงีบหลับไปบ้าง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงส่อไปทางเจ็บป่วย ก็ไม่ต้องกังวลกับการงีบหลับของนก

             การเคี้ยว นกคอนัวร์ ชอบที่จะขบเคี้ยว กัดแทะ สิ่งต่างๆรอบตัวเสมอ ซึ่งผู้เลี้ยงต้องมีของเล่นให้นกได้เคี้ยวตลอดเวลา

CD: http://pet.kapook.com/view4314.html

นกเลิฟเบิร์ด (Lovebird)

  นกเลิฟเบิร์ด (Lovebird)

     นกเลิฟเบิร์ด (อังกฤษ: Lovebird) เป็นสกุลของนกปากขอ หรือนกแก้วขนาดเล็กสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Agapornis (มาจากภาษากรีกคำว่า αγάπη หมายถึง “รัก” และคำว่า όρνις หมายถึง “นก”)

     นกเลิฟเบิร์ดเป็นนกปากขอขนาดเล็ก ที่มีสีสันสดใส มีความยาวเต็มที่ประมาณ 5-6 นิ้ว โดยมีถิ่นกำเนิดในทวีปอัฟริกาฝั่งตะวันออก และเกาะมาดากัสการ์ซึ่งเป็นแถบที่อบอุ่นถึงค่อนข้างร้อน มีอายุขัยประมาณ 10-15 ปี นกเลิฟเบิร์ดมีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์และเลือกคู่ได้แล้วจะอยู่กับคู่ของตัวเองไปตราบจนตาย อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ

     นกเลิฟเบิร์ดก็เหมือนกับนกในอันดับนี้ส่วนใหญ่ ที่นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยง ประวัติของการเลี้ยงนกเลิฟเบิร์ด ในสมัยแรกเริ่มคือช่วงปี ค.ศ. 1840 นกเลิฟเบิร์ดถูกเรียกว่า “Little parrot” (นกแก้วเล็ก) ตามประวัติกล่าวว่าชาวแอฟริกันเป็นผู้นำเข้าไปแพร่หลายในทวีปยุโรป และด้วยเอกลักษณ์ของนกสกุลนี้ก็คือ ชอบอยู่เป็นคู่ และจะดูแลกันและกันเป็นอย่างดี จึงได้รับการเรียกขานว่านกเลิฟเบิร์ดในที่สุด

      ต่อมา นกเลิฟเบิร์ดก็แพร่ขยายไปในสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 60 เมื่อมีการได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงเกิดการเพาะขยายพันธุ์อย่างกว้างขวางจนเกิดการกลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา จนในช่วงศตวรรษที่ 80 การเลี้ยงนกเลิฟเบิร์ดมีจุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ได้สีสันใหม่ ๆ ที่สวยงามขึ้น และเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ รวมทั้งมีการผสมกับนกสายพันธุ์อื่น ๆ อีกด้วยจนปัจจุบันนกเลิฟเบิร์ด ได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94

 

นกกระตั้ว (Cockatoo)

     นกกระตั้ว (Cockatoo)

Cockatoo perching on a branch. Its plumage on the top of its head above its eyes is white and it has a horn-coloured beak. The rest of its head, its neck, and most of its front are pink. Its wings and tail are grey.

          นกกระตั้ว หรือ นกคอกคาทู (อังกฤษ: Cockatoo) เป็นนกประเภทปากคีม มีหลายสกุล ส่วนมากจะมีสีขาว บางชนิดมีสีเหลืองอ่อนแซมเล็กน้อย มีหงอน มีลิ้นและสามารถสอนให้เลียนเสียงได้เหมือนนกแก้ว โดยที่ชื่อสามัญที่ว่า “Cockatoo” เป็นภาษามาเลย์แปลว่า “คีมใหญ่” พบในแถบอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, นิวกินี, หมู่เกาะโซโลมอน และ ออสเตรเลีย ชนิดที่มนุษย์จับมาเลี้ยงนั้นมีราคาสูง นกกระตั้วที่อยู่ตามธรรมชาติจะมีอายุขัยเพียง 20-30 ปีเท่านั้น แต่นกกระตั้วที่มนุษย์นำมาเลี้ยงจะมีอายุยืนถึง 60-80 ปี

อนุกรมวิธาน

          เดิมทีนกกระตั้วถูกจัดเป็นหนึ่งในวงศ์ย่อย Cacatuinae ของวงศ์นกแก้ว Psittacidae โดย จอร์จ โรเบิร์ต เกรย์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1840 โดยมีสกุล Cacatua เป็นสกุลต้นแบบ ก่อนจะถูกจัดแยกออกมาเป็นวงศ์เฉพาะในปี ค.ศ. 1990

ลักษณะทางกายภาพ

          นกกระตั้วเป็นนกที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 30-60 เซนติเมตร (12-24 นิ้ว) หนัก 300-1,200 กรัม (0.66-2.6 ปอนด์) มีหงอนบนหัวที่สามารถหุบและแผ่ได้ จะงอยปากสีดำใหญ่เหมือนคีม มีความคมและแรงกัดมหาศาล เท้าแต่ละข้างมีนิ้ว 4 นิ้ว ยาวและมีเล็บแหลม สามารถเกาะและปีนป่ายได้ดี

การเลี้ยงนกกระตั้วในประเทศไทย

          นกกระตั้วที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยคือ นกกระตั้วมอลลัคคัน (Cacatua moluccensis), นกกระตั้วอัมเบรลล่า (C pastinator) และ นกกระตั้วซัลเฟอร์เครสต์ (C. galerita) โดยมีราคาสูงหลักหมื่นบาท นกกระตั้วที่มนุษย์เลี้ยงโดยป้อนอาหารให้กับมือจะมีความเชื่องมากกว่านกที่ปล่อยให้แม่นกป้อนอาหารเองมาก และจะขายได้ราคาสูงกว่าด้วย นกกระตั้วเป็นนกที่มีนิสัยชอบร้องเสียงดัง ผู้อยู่อพาร์ทเมนท์ไม่ควรเลี้ยงอย่างเด็ดขาด นกกระตั้วมีนิสัยติดและหวงเจ้าของ จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่และมีเวลาให้กับนกกระตั้วมาก ๆ หากปล่อยนกไว้ไม่มีใครสนใจจะทำให้นกกระตั้วหงุดหงิดและทำลายข้าวของ, ทำร้ายตัวเอง (กัดขาตัวเอง), ทำร้ายผู้คนที่เข้ามาใกล้ นกกระตั้วที่ผูกพันกับเจ้าของมากเกินไปอาจจะทำให้ไม่ยอมมีคู่และไม่ยอมผสมพันธุ์ได้

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%A7

นกปักษาสวรรค์ (Paradisaea minor)

นกปักษาสวรรค์ (Paradisaea minor)

       

           นกปักษาสวรรค์ หรือ นกการเวก หรือ นกวายุภักษ์ (อังกฤษ: Bird-of-paradise) เป็นวงศ์ของนกเกาะคอนวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Paradisaeidae  เป็นนกที่มีสีสันสวยงามมาก โดยเฉพาะในตัวผู้จะมีขนตามตัวสีสันฉูดฉาดสวยงาม ขนหางเหยียดยาวเป็นเส้นโค้งอ่อนช้อย หรือม้วนเป็นรูปร่างแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิด จุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดตัวเมียที่มีความงามด้อยกว่า หรือบางกรณีก็เกิดพึงพอใจในตัวเมียต่างชนิดให้เข้ามาผสมพันธุ์ด้วย ขณะที่ตัวผู้บางชนิดจะเต้นไปบนพื้นดินเพื่อเกี้ยวพาราสีตัวเมีย  นกปักษาสวรรค์กินลูกไม้ หรือแมลงบริเวณแหล่งอาศัยเป็นอาหาร

          นกปักษาสวรรค์ กระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของนิวกินี, หมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย และบางส่วนของออสเตรเลีย แบ่งออกได้เป็น 14 สกุล ประมาณ 40 ชนิด (บางข้อมูลจัดให้มี 15 สกุล) การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่านกปักษาสวรรค์มีวิวัฒนาการเป็นของตัวเองมานานกว่า 24 ล้านปี จนมีความหลากหลายและความงามอย่างในปัจจุบัน วิวัฒนาการดังกล่าวเป็นการเดินทางทางชีววิทยาอันยาวนานกว่าจะแยกออกจากนกในวงศ์ใกล้เคียงกันที่สุด คือ อีกา (Corvidae) ซึ่งเป็นนกที่รู้จักเป็นอย่างดีว่าไม่สวย

          ในอดีต ขนของนกปักษาสวรรค์ถือเป็นเครื่องบรรณาการหรือสินค้ามีค่ามานานกว่า 2,000 ปี ขนนกใช้แทนเงินได้ การล่าจึงเกิดขึ้นอาจนับตั้งแต่การเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในถิ่นที่อยู่ของนกในวงศ์นี้ และได้กลายมาเป็นที่ต้องการของนักสะสมชาวยุโรป ภายหลังนกปักษาสวรรค์ตัวแรกเดินทางจากดินแดนหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกไปพร้อมกับกองเรือของเฟอร์ดินันท์ แมกเจลเลน และเทียบท่าสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1522 มีซากนกปักษาสวรรค์ที่ได้รับมอบเป็นบรรณาการกลับไปด้วย เมื่อชาวพื้นเมืองจับนกได้มักตัดขาทิ้ง ขณะนั้นชาวยุโรปยังไม่มีใครเคยเห็นปักษาสวรรค์ที่มีชีวิต จึงเล่าลือกันว่านกชนิดนี้ไม่มีขา คงต้องบินลงมาจากสวรรค์ อันเป็นที่มาของชื่อเรียกสามัญ  ในยุคที่ตลาดค้านกปักษาสวรรค์เฟื่องฟู เพราะความต้องการขนของนกปักษาสวรรค์มาประดับตกแต่งหมวกสตรีชาวยุโรป ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ที่นิวกินีมียอดส่งออกนกชนิดนี้ถึงปีละ 80,000 ตัวต่อปี จนท้ายที่สุดมีกระแสอนุรักษ์ก็เกิดขึ้น มีการออกมาต่อต้านของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรปห้ามซื้อขาย ต่อมามีการออกกฎหมายห้ามล่า เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมของนิวกินีในปี ค.ศ. 1908 ปัจจุบันรัฐบาลนิวกินีเองก็ได้ออกกฎหมายห้ามล่า ห้ามนำนกออกจากเกาะยกเว้นเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อการเฉลิมฉลองในพิธีกรรมของชาวพื้นเมืองเท่านั้น  และนกปักษาสวรรค์ยังได้ปรากฏบนมุมธงชาตินิวกินีและตราแผ่นดินของนิวกินีด้วย

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C

นกหงส์หยก (Budgerigar)

          นกหงส์หยก  (Budgerigar)

                  

      นกหงส์หยก (อังกฤษ: Budgerigar; ชื่อวิทยาศาสตร์: Melopsittacus undulatus) เป็นนกปากขอขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ที่มีลวดลายและสีสันที่สวยงาม ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของนกหงส์หยกอยู่ตามแถบทุ่งหญ้าในประเทศออสเตรเลีย มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า “บั๊ดจี้” (Budgie) หรือ “พาราคีท” (Parakeet) ครั้งหนึ่ง ผู้คนทั่วไปเคยเข้าใจว่านกหงส์หยกเป็นนกที่อยู่ในจำพวกนกเลิฟเบิร์ด แต่ในปัจจุบันได้ยอมรับกันแล้วว่าเป็นนกคนละจำพวกกัน โดยผู้ที่ทำการอนุกรมวิธาน คือ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จอห์น กูลด์ ที่เข้าไปศึกษาธรรมชาติวิทยาที่ออสเตรเลียเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว  โดยถือเป็นนกเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Melopsittacusโดยทั่วไปแล้วสีตามธรรมชาติ นกหงส์หยกมักมีขนสีเขียว, ฟ้า, เหลือง และขาว แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายออกไปจากสีดั้งเดิมตามธรรมชาติในฐานะของการเป็นสัตว์เลี้ยง โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามลักษณะ อาทิ “โอแพล์ลิน”, “อัลบิโนส์” และ”ลูติโนส์”

         นิเวศวิทยา

        นกหงส์หยกเป็นนกเร่ร่อนพบในที่อยู่อาศัยแบบเปิด, ส่วนใหญ่ในทุ่งไม้พุ่ม, บริเวณที่เป็นป่าเปิด และทุ่งหญ้าของออสเตรเลีย นกที่พบตามปกติจะอยู่ในฝูงขนาดเล็ก แต่สามารถอยู่ร่วมกันในฝูงที่ใหญ่มากในกรณีที่ถิ่นที่อยู่ดีมาก เป็นนกที่มีการเร่ร่อนมาก และการเคลื่อนย้ายจะเป็นไปตามความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารและน้ำ

        สัตว์เลี้ยง

          ปัจจุบัน นกหงส์หยกเป็นนกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยง จัดเป็นนกที่เลี้ยงง่ายเพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย มีราคาถูก ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ต่าง ๆ จนมีสีสันและลวดลายต่าง ๆ สวยงามกว่าในธรรมชาติ โดยพฤติกรรมตามธรรมชาติ นกหงส์หยกจะอยู่รวมกันเป็นฝูง ดังนั้นถ้าเลี้ยงรวมในกรงใหญ่ นกจะมีปฏิสัมพันธ์กันเอง แต่ถ้าเลี้ยงเพียงตัวเดียวหรือคู่เดียว ก็ควรมีของเล่นต่าง ๆ ให้ หรือกระจก สำหรับส่องเพื่อที่นกจะเข้าใจว่ามีตัวอื่นอยู่ร่วมด้วย และใช้สำหรับส่องเพื่อไซ้แต่งขน อาหารหลักของนกหงส์หยก คือ ข้าวฟ่าง, ผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ และอาจให้แร่ธาตุเสริม คือ แคลเซียม จากลิ่นทะเลหรือกระดองปลาหมึกด้วย สถานที่เลี้ยงควรเป็นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ผู้เลี้ยงควรที่จะฉีดสเปรย์น้ำเพื่อที่จะทำความสะอาดนกด้วย การจำแนกเพศของนกหงส์หยก สังเกตได้ที่จมูก ในนกตัวผู้เมื่อเจริญเต็มที่หรือพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จะเป็นสีฟ้าเข้ม และในนกตัวเมียนั้นจมูกของนกเมื่อเจริญเต็มที่หรือพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จมูกของนกจะมีสีออกเป็นสีเนื้อหรือสีน้ำตาลเข้ม สีดังกล่าวจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ในฤดูผสมพันธุ์ นกหงส์หยกจะจับคู่เมื่อมันพร้อมที่จะผสมพันธุ์ โดยสังเกตได้จากนกจะอยู่กันเป็นคู่ ไซ้ขนให้กัน และคอยป้อนอาหารให้กัน โดยเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 11 เดือน หรือ 1 ปี วางไข่ครั้งละ 4-8 ฟอง ระยะฟักตัวประมาณ 18-20 วัน ลูกนกจะโผล่พ้นรังเมื่ออายุได้ 4-5 สัปดาห์

CD:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%81