นกยูง (Green Peafowl)

              นกยูง (Green Peafowl)

                  ชื่อสามัญ : Green Peafowl

              ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pavo muticus

         ลักษณะทั่วไปของนกยูง

      นก ยูง จัดว่าเป็นนกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งขนาดโตเต็มที่สูงประมาณ 0.8-1เมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่จะหนักประมาณ 4-6 กิโลกรัม มีอายุยืนได้ถึง 40-50 ปี ตัวผู้มีขนาดโตกว่าตัวเมียตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยขนคอจะมีสีน้ำเงิน (นกยูงอินเดีย) หรือลักษณะคล้ายเกล็ดมีสีเขียว (นกยูงไทย) ขนตามลำตัวจะมีสีเขียวเข้มอมน้ำเงินและดำ ขนหลังเป็นเกล็ดคล้ายใบไม้ ซ้อนทับกันตลอดแผ่นหลังหัวจะมีหงอนลักษณะคล้ายพู่กันปลายแหลม หรือเป็นรูปพัดแล้วแต่ชนิดพันธุ์ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ส่วนขนปีกจะมีสีเขียวเข้มอมน้ำเงินดำและขนหางจะมีสีเขียวเข้ม และมีดอกคล้ายรูปดวงตาตรงส่วนปลาย สำหรับตัวเมียจะมีขนตามตัวสีน้ำตาล ขนคอและหลังจะมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ (นกยูงอินเดีย)  แต่นกยูงไทยลักษณะจะไม่แตกต่างกัน ส่วนหางจะสั้นและไม่มีดอก ดวงตากลมสีฟ้าน้ำตาลดำ หัวเล็กปีกมีสีน้ำเงินดำ และยาวตลอดลำตัว ทำให้นกยูงสามารถบินได้ ลักษณะเท้าของนกยูงจะพบว่ามีนิ้วเท้าข้างละ 4 นิ้ว ใต้นิ้วเป็นเนื้ออ่อนๆ ปลายนิ้วแหลมมีอุ้งเท้าที่สามารถเกาะกิ่งไม้ได้เป็นอย่างดี  ปกตินกยูง ในธรรมชาติ จะเป็นสัตว์ตกใจง่าย และขี้อาย แต่เมื่อนำมาเลี้ยงสามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ ถึงแม้ว่าจะมีมันสมองเล็กแต่ก็มีความสามารถในการจดจำบางสิ่งบางอย่างได้เป็น อย่างดี มีความสามารถในการจำผู้เลี้ยงดู จำสถานที่พักอาศัยที่ปลอดภัยได้ และถ้าตกใจหรือถูกทำร้ายจากสัตว์ชนิดใด นกยูงจะจดจำเมื่อจวนตัว หรือโกรธ จะต่อสู้ป้องกันตัวด้วยการเตะไปข้างหน้า พร้อมทั้งจิก ในต่างประเทศ มีการฝึกนกยูงร่วมแสดงคณะละครสัตว์ นั่นแสดงให้เห็นว่านกยูงสามารถฝึกให้เชื่อง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดมนุษย์ได้อย่างไม่ใช่เรื่องยาก

               ถิ่นกำเนิด

        นกยูงมีแหล่งกำเนิดในป่าเขตร้อนในแถบเอเชียตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาลายู อินโดนีเซีย และในตอนกลางของแอฟริกา ประเทศคองโกถ้าแบ่งแยกตามลักษณะภายนอก สามารถแบ่งได้เป็น 5 ชนิด (species) ได้แก่นกยูงอินเดีย (Blue India) ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกยูงชนิดนี้คือ Pavo cristatusมีถิ่นที่อยู่แถบเอเชียใต้ ทั้งอินเดีย และศรีลังกา สัณฐานวิทยาของนกยูงอินเดียมีหงอนเป็นรูปพัด สีของหัว ลำคอ จนถึงอกจะมีสีน้ำเงิน ท้องมีสีน้ำตาลตัวค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับนกยูงชนิดอื่นๆ ตัวเมียมีหงอนลักษณะเดียวกันแต่จะตัวเล็กและมีสีน้ำตาลเกือบทั้งตัว มีขนสีเขียวอมน้ำเงินแซมที่คอและหัว ลักษณะเด่นของแม่นกยูงอินเดียคือมีไข่ดกไข่มีลักษณะคล้ายไข่ไก่มีผิวเกลี้ยง แต่มีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ส่วน ที่บ้านเราหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า นกยูงไทยนั้นต่างชาติจะเรียกว่า Indo-Chaina, Java Green (Pavo muticus) สัณฐานวิทยาแตกต่างจากนกยูงอินเดีย คือมีตัวโตกว่าหงอนมีลักษณะแหลมคลายพู่กันปลายตัด (Java Green) หัวสีเขียวเข้มคอมีสีเขียวแก่เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน อกและท้องมีสีดำและน้ำตาลเข้มตัวเมียมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวผู้คือมีสีที่ ใกล้เคียงกันทำให้แยกเพศได้ยากถ้ายังไม่โตเต็มที่ (2-3 ปี) ส่วน Indo-Chaina เป็นนกยูงชนิดที่มีความสวยงามและมีตัวโตที่สุด หงอนมีลักษณะแหลมคลายพู่กันปลายแหลมหัวสีเขียวเข้มคอมีสีเขียวอมเหลืองมีขอบ ชัดเจนคล้ายเกล็ดปลา ปีกมีสีน้ำเงิน อกและท้องมีสีดำตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ นกยูงในไทยมี 2 ชนิดย่อย คือ นกยูงชวาหรือนกยูงใต้ (Pavo muticus muticus)กระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระลงไปจนถึงอินโดนีเซีย และนกยูงอินโดจีนหรือนกยูงเหนือ (Pavo muticus imperator)ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในอินเดีย พม่า ยูนนาน ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ตั้งแต่บริเวณคอคอดกระขึ้นไป

               ความแตกต่างเพศผู้และเพศเมีย

    นกยูงเพศ ผู้ลำตัวสีเขียวสด บริเวณปีกสีน้ำเงิน ปลายปีกสีน้ำตาลเข้ม หัวมีหงอนขนงอกชี้ขึ้นเป็นกระจุก ใบหน้าสีน้ำเงิน หนังบริเวณหูและแก้มสีเหลือง ในฤดูผสมพันธุ์ขนคลุมโคนหางด้านบนจะงอกยาว และจะแพนออกเป็นวงกลมตั้งขึ้นเวลาเกี้ยวพาราสีตัวเมีย เมื่อพ้นช่วงฤดูผสมพันธุ์แล้วนกยูงเพศผู้จะสลัดขนคลุมโคนหาง ทำให้ดูคล้ายเพศเมีย เพศเมียตัวเล็กกว่าเพศผู้เล็กน้อยและสีไม่สดใสเท่า บริเวณขนต่างๆ ของเพศเมียมักมีสีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลแดงแทรกเป็นคลื่น จึงมองเห็นเป็นลายคลื่นทั่วทั้งลำตัว ขนคลุมโคนขนหางด้านบนไม่งอกยาว

             การผสมพันธุ์

        นกยูงนก ยูงตัวเมียอายุ 2 ปีเจริญเต็มวัยพร้อมจะผสมพันธุ์ได้ ส่วนตัวผู้ต้องมีอายุอย่างน้อย 3 ปี ฤดูผสมพันธุ์เริ่มประมาณเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัว หากมีนกยูงตัวเมียผ่านเข้าไปในเขตแดนของตัวผู้ ตัวผู้จะเดินเข้าไปหาและรำแพนหางเพื่อโอ้อวด บางครั้งก็สั่นขนหางให้เกิดเสียงดังเป็นช่วงๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย ถ้าตัวเมียพอใจก็จะเดินเข้าไปหาและย่อตัวลงให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์หลัง ผสมพันธุ์ นกยูงตัวเมียจะทำรังวางไข่บนพื้นดินตามที่โล่ง ซุ้มกอพืช หรือซุ้มไม้ โดยอาจมีหญ้าหรือใบไม้แห้งมารองรับ แม่นกยูงออกไข่แต่ละรุ่นประมาณ 4-8 ฟอง ออกทุก 2-3 วัน ไข่สีเนื้อถึงน้ำตาลอ่อน บางฟองมีลายแต้มสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมแดง มีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่พอสมควร เฉลี่ย 54.2 x 72.6 มิลลิเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 114.5 กรัม เริ่มฟักหลังจากวางไข่ฟองสุดท้าย แล้วใช้เวลาฟักประมาณ 27-30 วัน

CD:http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=86:2009-11-04-08-08-20&catid=29:7-&Itemid=42

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>